วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปลือกนอก หรือ เนื้อใน

การได้ใช้ชีวิตในวัยที่กำลังค้นหา และพัฒนาทัศนคติต่อโลกเป็นของตนเองในประเทศอังกฤษของหนึม ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก หนึมใช้เวลาช่วงปิดเทอมทั้งปิดเทอมเล็กและปิดเทอมใหญ่ที่สหราชอาณาจักร ในส่วนของประเทศอังกฤษ ตั้งแต่อายุ 14 ปี และไปเรียนต่อที่นั่นเมื่อายุ 17 ปี จนถึงอายุ 24 ปี

การได้มองเห็นสิ่งแวดล้อมอีกแบบ ทำให้เกิดข้อสงสัยที่สืบสาวไปถึงเรื่องแนวคิดของผู้คนต่อ และการได้ยินคำถามจากคนเหล่านั้น ถึงสิ่งแวดล้อมแบบไทยๆของเรา ทำให้หนึมได้มีโอกาสมองย้อนกลับมาสู่สังคมเดิมของตนเอง และตั้งข้อสงสัยใหม่ๆไปด้วย

วันนี้จะว่าด้วยเรื่องเปลือกนอกและเนื้อใน

อังกฤษในยุคปี ปลายๆ 80 ต้นๆ 90 นั้น เป็นสังคมที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่มาจากประเทศอาณานิคมอันกว้างใหญ่ของสหราชอาณาจักรนั่นเอง เช่น อินเดิย ปากีสถาน ฮ่องกง และ ประเทศในอัฟริกา คนเหล่านี้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข แม้จะไม่ได้กลมกลืนกันเสียเลยทีเดียว (ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มักจะอยู่อาศัยในย่านเดียวกันเป็นกลุ่มๆไป เหมือนในหลายๆประเทศ)

อังกฤษเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมพังค์ เราจะเห็นผู้คนเดินไปมาในทรงผมแปลกๆ โมฮ็อค สีสันแปลกๆอย่างแดง เขียว (คนยุคนั้นยังไม่ย้อมผมเพื่อแฟชั่น ส่วนใหญ่สีที่ย้อมก็คล้ายคลึงสีผมธรรมชาติ) การแต่งกายในเสื้อผ้าแบบแปลกๆ รุ่งริงรุงรัง หมุดหรือห่วงต่างๆบนใบหน้าร่างกาย การแต่งหน้า ทาปาก ทาเล็บด้วยสีดำสไตล์ก็อตทติค เป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นเรื่องปกติ และผู้คนเคารพในความเป็นตัวตนของกันและกัน

การประท้วงเรื่องการใช้หนังและขนสัตว์มาเป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของมนุษย์มีอยู่บ่อยๆ ผู้ประท้วงจะมีแผ่นโปสเตอร์แสดงภาพการทารุณกรรมสัตว์เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ แต่ไม่มีการชี้หน้าด่าว่าผู้คนที่เดินผ่านไปมาที่อาจจะยังคงใช้หนังและขนสัตว์กันอยู่บ้าง

คนอังกฤษบางส่วนรับประทานเจ มีร้านอาหารเจ แต่ไม่มีใครออกมาตราหน้าผู้คนที่ยังรับประทานเนื้อสัตว์ มีแต่การให้ข้อมูลเชิงบวกของการรับประทานเจ

การเคารพสิทธิส่วนบุคคลของกันและกัน (ขอเน้นว่าของกันและกัน ไม่ใช่เคารพเฉพาะสิทธิส่วนบุคคลของคนใดคนหนึ่ง แต่ละเมิดสิทธิของคนอื่น) เป็นเรื่องปกติ ในโรงพยาบาลแผนกที่รักษาเรื่องของสตรีบางโรงพยาบาล จะเรียกผู้ป่วยด้วยหมายเลขเท่านั้น ไม่แม้แต่จะเอ่ยชื่อผู้ป่วยออกมาให้รับรู้กันไปทั่ว

มหาวิทยาลัยที่หนึมเข้าไปศึกษา ตามรอยพี่นุ่ม มีการเปลี่ยนชื่อสถาบันและให้นักศึกษาและบุคลากรเลือกชื่อใหม่ อาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนผิวขาว หลากหลายวัย มีอาจารย์ที่มาสอนในเนคไท โบว์ไท ไปจนชุดเดินป่า และชุดหนังขี่มอเตอร์ไซค์ (อังกฤษหนาวและมีฝนตกอยู่แทบทั้งปี ผู้คนไม่ค่อยใช้มอเตอร์ไซค์ คนที่ใช้ก็จะใส่ชุดหนังแนบตัวและรองเท้าบูทหนังยาวถึงหน้าแข้งกันลมให้อบอุ่น) อาจารย์บางคนก็มาสไตล์พังค์ บางคนสไตล์นักวิชาการ บางคนสไตล์แม่บ้าน มหาวิทยาลัยนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชให้นักศึกษาใช้เป็นร้อยๆตัวในห้องสมุด และมีชื่อเสียงระดับต้นๆของสหราชอาณาจักรในด้าน computer graphic และ การท่องเที่ยว

ที่นี่มีผู้คนเรียนจากทั่วประเทศและจากอีกหลายประเทศ (แม้ในยุคนั้นนักเรียนต่างชาติจะไม่มากเท่าปัจจุบัน) มีผู้เรียนที่พิการทั้งแบบแค่เดินขโยกเขยก นั่งรถเข็นไฟฟ้า และแบบที่ใช้ทั้งขาและมือเทียม และ มีนักเรียนหลากหลายฐานะ และหลากหลายอายุ เราจะเห็นคนในวัย 40 – 50 ปี เรียนร่วมกับคนที่เพิ่งจบมัธยมศึกษามาเป็นเรื่องปกติ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียนกัน

ตั้งแต่ยุคนั้นแล้วที่พวกเราต้องเข้าไปยืมหนังสือจากห้องสมุดอ่านล่วงหน้าก่อนเข้าเรียน (หนังสือแพงมาก นักศึกษาส่วนใหญ่ยืมห้องสมุด หรือซื้อหนังสือต่อจากรุ่นพี่) บางวิชาอาจารย์จะมีข้อมูลในแผ่น disc (สมัยนั้นเราใช้ floppy disc) ไว้ที่ห้องสมุดให้นักศึกษาไปยืมและ print อ่านก่อนเข้าเรียน หรือ print โจทย์ของ assignment ต่างๆเพื่อไปทำส่ง การเรียนส่วนใหญ่คือการอ่านแล้วมาถกเถียงแสดงความเห็นหรือทดสอบสมมุติฐานในห้องเรียนที่มีอาจารย์เป็นผู้นำการถกเถียง

มีบ้างที่เราต้องทำสำเนาจากหนังสือในห้องสมุด เราสามารถทำการสำเนาหนังสือในเครื่องสำเนาในห้องสมุดโดย scan barcode ของหนังสือเล่มนั้นก่อน เพื่อทางมหาวิทยาลัยจะไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์กับเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือเรียนเหล่านั้น

การใช้ชีวิตจึงเป็นการรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง และเคารพตนเองและเคารพผู้อื่น และการมองทะลุเปลือกนอกที่เห็นด้วยตา ให้เข้าไปถึงสิ่งที่เป็นแก่นสาร

หมายเหตุ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะตั้งแต่กลับมาอยู่เมืองไทยได้ 10 กว่าปีแล้ว หนึมได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดว่าเปลือกนอกเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าหรือเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ และการบกพร่องในเปลือกนอกที่ตัดสินโดยผู้คนต่างมุมมอง ถือเป็นเรื่องใหญ่และบดบังความสำคัญและการเข้าถึงเนื้อในโดยสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น